พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชลอความแก่

ฟ้าทะลายโจร

   ชื่อวิทยาศาสตร์ :       Andrographis paniculata
ชื่อวงศ์ :               
ACANTHACEAE
ชื่อท้องถิ่น :           
ภาษาจีนเรียกว่า ซวนซิน เหลียง เจ็กเกี่ยงสี่ คีปังฮี โซ่วเซ่า สำหรับชื่อไทยก็มีเรียกแตกต่างกันไปตามภาษาท้องถิ่น
คือ ภาคกลางเรียกฟ้าทะลายโจร น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยคลาย ยายคลุม และขุนโจรห้าร้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกสามสิบดี  ภาคใต้เรียก ฟ้าสะท้าน หญ้ากันงู และเมฆทะลาย

  ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ข้อมูลต่อว่า บทบาทที่สำคัญของสมุนไพรที่เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคและชะลอความเสื่อมของร่างกาย คือ การต้านอนุมูลอิสสระนั้น นอกจาก “ยอ” แล้ว แนวทางการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง คือ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การชะลอแก่ของเซลล์ต่างๆ การเพิ่มการไหลเวียนเลือด และป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว รวมทั้งเสริมการทำงานอย่างเป็นระบบของอวัยวะทุกส่วน ยังต้องพึ่งพาสมุนไพรอีกหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ “ฟ้าทะลายโจร”

ฟ้าทะลายโจร
เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย และได้ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ของประเทศไทย ใช้บรรเทาอาการของโรคหวัด (Common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล และบรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ

ฟ้าทะลายโจร มีการใช้เพื่อการป้องกันหวัดมาอย่างยาวนานในประเทศจีน และมีรายงานการวิจัยว่า ฟ้าทะลายโจรช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ทั้งแบบการสร้างแอนตี้บอดี้ (Antibody) เพื่อต่อต้านสิ่งแลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย และการกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโคฟาจ (Macrophage) ให้จับกินเชื้อโรคได้ดีขึ้น

กลไกการออกฤทธิ์ของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรต่อร่างกายมี 3 กลไก คือ
ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ลดไข้ ต้านการอักเสบ และลดอาการจากการหวัด
ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสและทำให้ความสามารถของเชื้อไวรัสในการเกาะติดกับผนังเซลล์ลดลง จึงทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ยากขึ้น
ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้มีร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น

อีกทั้งยังมีความปลอดภัยในการรับประทานในระยะยาว และมีการรับรองในการรักษาหวัดจากองค์การอนามัยโลกอีกด้วย แต่มีข้อห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า น้ำต้มฟ้าทะลายโจรมีผลทำให้หนูทดลองแท้งได้ และห้ามใช้ในการบรรเทาอาการไข้หรือเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus group A ซึ่งมีอาการรุนแรง และการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไข้รูห์มาติค โรคหัวใจรูห์มาติคและไตอักเสบ

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคควรรับประทานฟ้าทะลายโจรตามคำแนะนำ ดังนี้
– การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ คือ อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
– การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้รับประทานฟ้าทะลายโจรแคปซูลครั้งละ 1.5 – 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

ที่มา : bangkokbiznews.com